เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมพนักงานบางคนถึงเติบโตก้าวหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น?
เพราะความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ขององค์กร
อาจเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า Mindset!
‘Skillset’ อาจเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่จะเติมเต็มให้คนแตกต่างนั่นก็คือ ‘Mindset’ เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมพนักงานบางคนถึงไปได้ไกลและเติบโตได้เร็วกว่าคนอื่น? และทำไมบางคนเก่งแต่ไม่โต? นั่นเป็นเพราะว่า พนักงานกลุ่มแรกมีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset นั่นเอง มาดูกันว่า การปลูกฝังให้พนักงานมี Growth Mindset จะช่วยให้พวกเขาขับเคลื่อนองค์กรให้สำเร็จได้อย่างไร
พนักงานที่มีความคิดแบบ Growth Mindset มักมองความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้ และกล้านำความผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในครั้งต่อๆไป คนที่ประสบความสำเร็จมากๆ กว่าที่พวกเขาจะไปถึงฝั่งฝันล้วนผ่านความล้มเหลวมาก่อนทั้งนั้น เช่น โอปราห์ วินฟรีย์ ที่ถูกไล่ออกจากงานผู้ประกาศข่าว เพราะโปรดิวเซอร์คิดว่าเธอ “ไม่เหมาะที่จะอยู่ในข่าวทีวี” ก่อนจะกลายเป็นเจ้าของทอล์กโชว์ที่ดังไปทั่วโลก
พนักงานที่มี Growth Mindset จะหาโอกาสในการเรียนรู้เสมอ และนิสัยการเรียนรู้นี่เอง ที่มักจะพาไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีงานวิจัยยืนยันว่า คนที่ประสบความสำเร็จ กว่า 85% อ่านหนังสือพัฒนาตนเองหรือหนังสือเกี่ยวกับการศึกษา อย่างน้อย 2 เล่มต่อเดือน และผู้บริหาร 30% มีความเห็นว่า ความตั้งใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คือลักษณะนิสัยของลูกจ้างที่จะประสบความสำเร็จอีกด้วย
พนักงานที่มี Growth Mindset จะไม่หยุดที่จะผลักดันตัวเอง ให้ไปได้ไกลกว่าที่เคยทำได้ มีงานวิจัยหนึ่ง ที่ให้ผู้เข้าร่วมปั่นจักรยานให้เหนื่อยที่สุดเป็นระยะทาง 4,000 เมตร และหลังจากนั้นก็ให้ปั่นจักรยานแบบเดิม แต่ครั้งนี้เป็นการแข่งกับการปั่นของตัวเองที่บันทึกไว้ครั้งแรก ปรากฎว่านักปั่นสามารถทำระยะได้ไกลกว่าเดิม จะเห็นได้ว่า เมื่อเราผลักดันตัวเอง เราจะไปได้ไกลกว่าที่ตัวเองคิดเสียอีก
พนักงานที่มี Growth Mindset จะพร้อมรับฟัง Feedback ที่ช่วยพัฒนาพวกเขาได้ เพราะคนที่อยากจะเติบโต จะสนใจและชอบที่จะท้าทายตัวเองให้เก่งขึ้น โดยที่ไม่กลัวคำวิจารณ์หรือถูกตัดสิน พวกเขาจึงมักจะประสบความสำเร็จ เพราะกล้าที่จะนำคำวิจารณ์จากผู้อื่นมาพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
การสร้างวัฒนธรรมแห่งผู้ประกอบการภายในองค์กร ยาก แต่ คุ้มค่า เพื่อช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กร
สนับสนุนให้พนักงานของคุณพัฒนาทักษะสร้างเครือข่าย ความคล่องตัวในการปรับตัว และความสามารถในการรับมือกับปัญหา
วิกฤตโรคระบาดที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลงก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ธุรกิจหลาย ๆ แห่งต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนอย่างรุนแรง ไม่มีมีสูตรสำเร็จใดที่รับประกันความสำเร็จได้ในช่วงเวลาแห่งความฝันผวนปรวนแปรเช่นนี้ แม้ว่าธุรกิจของคุณจะดูเหมือนไปได้ดีอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สิ่งต่าง ๆ สามารถพลิกผันได้รวดเร็วกว่าที่เราคาดไว้เสมอ
เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของเราจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย วิธีการตัดสินใจซื้อสินค้าบริการและทำกิจวัตรประจำวันของเราเองก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัส
ในขณะที่นวัตกรรมเป็นหนทางหนึ่งในการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่เกิดขึ้นและอาจช่วยตอบได้ว่าความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปคืออะไร ตัวนวัตกรรมเองอาจจะเรียกร้องทรัพยากรมากเกินกว่าที่องค์กรจะให้ได้ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้ เพราะฉะนั้น เราลองถอยออกมาเพื่อให้มองเห็นภาพรวมที่ใหญ่ขึ้นกันดีกว่า
วัฒนธรรมการทำงานที่เข้มแข็งเป็นหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่องค์กรต่าง ๆ พบว่าเป็นการยากมากที่จะปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าระบบการทำงานที่มั่นคงและแน่นอนจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันไม่ใช่ระบบที่ยั่งยืนสำหรับโลกอนาคต ลองมองไปที่เหล่าผู้ประกอบการ พวกเขาทำงานด้วยความคล่องตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการพลิกผันของอุตสาหกรรม แต่พวกเขาเองก็มีความท้าทายในแบบของพวกเขาเอง นั่นก็คือเงินทุนและทรัพยากรที่จำกัด
องค์กรขนาดใหญ่อาจไม่ค่อยมีปัญหาด้านทรัพยากรและเงินทุน แต่ความท้าทายของพวกเขาคือการตามหาคนแบบผู้ประกอบการ นี่เองคือเหตุผลที่ทำให้บุคลากรที่มีกรอบวิธีคิดแบบผู้ประกอบการแต่ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และผลักดันให้ธุรกิจของเราเดินต่อไปข้างหน้า
เราเรียกสภาวะการมีกรอบวิธีคิดแบบผู้ประกอบการแต่ทำงานอยู่ในองค์กรว่าผู้ประกอบการภายใน (intrapreneurship)
สภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาทักษะแบบผู้ประกอบการของคนในองค์กร เช่น ความคิดสร้างสรรค์และความกล้าคิดกล้าทำ เป็นต้น
ความจริงก็คือมันเป็นเรื่องยากมากที่จะพัฒนาทักษะเหล่านั้นขึ้นมาได้หากเราไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาขึ้นในองค์กร แม้ว่าการสร้างวัฒนธรรมแห่งผู้ประกอบการภายในต้องใช้ความพยายามอย่างมากแต่มันคุ้มค่าที่จะลงทุน
แล้วทักษะอะไรบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ประกอบการภายในที่จะช่วยก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในองค์กร
การมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
ไม่ว่าคุณจะเริ่มสร้างนวัตกรรมใด ๆ ขึ้นมาก็ตาม จงหันกลับไปมองความต้องการของลูกค้าของคุณอยู่เสมอ ลูกค้าเหล่านั้นอาจไม่ใช่คนภายนอกเสมอไป เพราะงานของพวกเราบางคนคือการบริการพนักงานในองค์กร เช่น หน้าที่หลักของฝ่ายทรัพยากรบุคคลคือการตามหาคนเก่งมาทำงานกับบริษัทและในขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือพนักงานปัจจุบันไปด้วย
การสร้างเครือข่ายและเส้นสาย
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายและเส้นสายสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต ผู้ประกอบการภายในองค์กรก็เช่นเดียวกัน ในทุก ๆ นวัตกรรมใหม่ที่เราสร้างขึ้น เราไม่สามารถทำมันสำเร็จได้ด้วยตัวเราเพียงคนเดียว เราต้องสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งกับคนในและนอกองค์กรเพื่อทำให้เกิดความเชื่อใจและความเข้าใจระหว่างกัน ความเชื่อใจและความเข้าใจนี้เองที่จะช่วยให้เราเจาะเข้าไปถึงความต้องการภายในที่แท้จริงของลูกค้าที่เราสามารถนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การฟังเชิงรุก
ทักษะนี้เป็นทักษะพื้นฐานในการทำงานแบบตั้งลูกค้าเป็นศูนย์กลางและการสร้างเครือข่าย เพราะหากคุณไม่มีความสามารถในการฟังเชิงรุกแล้ว คุณจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับงานของคุณได้เลย พูดอาจจะฟังดูง่าย แต่การฟังเชิงรุกในสถานการณ์จริงไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ ถึงแม้ว่าการได้ยินจะเป็นความสามารถที่พวกเราส่วนใหญ่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่มันก็เป็นการฟังเชิงรับเท่านั้น หากเราไม่มีส่วนร่วมกับสารที่คู่สนทนาของเราพยายามจะสื่ออย่างตั้งใจแล้ว เราก็ไม่ได้กำลังฟังเพื่อเข้าใจอย่างแท้จริง
ความคล่องตัวและความสามารถในการรับมือกับอุปสรรค
ปัจจุบันนี้ ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว องค์กรทุกองค์กรจึงต้องพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ และต้องทำอย่างรวดเร็วด้วย แต่กระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ นั้นเป็นกระบวนการที่อาจล้มเหลวได้เสมอ ดังนั้น ความสามารถในการรับมือกับอุปสรรคจึงจำเป็นมากพอ ๆ กับความคล่องตัวในการทำงาน ความล้มเหลวมาพร้อมกับบทเรียนเสมอ ที่สำคัญคือเราต้องหาบทเรียนนั้นให้เจออย่างรวดเร็วแล้วมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
นวัตกรรมไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาธรรมดา มันคือการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนทั้งภายในและภายนอกด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และคุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนแบบผู้ประกอบการภายในควรมีความสามารถในการตรวจจับปัญหาอย่างรวดเร็ว ออกไอเดียในการแก้ปัญหา และเริ่มลงมือทดสอบไอเดียเหล่านั้นเพื่อตามหาความต้องการของลูกค้า
การเล่าเรื่องและการขายงาน
การสร้างสิ่งใหม่คือกระบวนการตามหาไอเดียและวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบการทำงานที่ไร้ความยืดหยุ่นแล้ว คำว่า “ใหม่” อาจกลายเป็นคำที่ได้ยินแล้วรู้สึกอันตรายเลยทีเดียว คนแบบผู้ประกอบการภายในจำเป็นต้องมีความสามารถในการสื่อสารและขายไอเดียของพวกเขาเพื่อให้คนที่ทำงานตามระบบมาตลอดเห็นถึงความสำคัญของความใหม่
ในขณะที่ทักษะที่จำเป็นของการเป็นคนแบบผู้ประกอบการนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ แต่ทักษะเหล่าคือพื้นฐานที่จำเป็น ที่เหลือคุณสามารถต่อยอดเพิ่มเติมตามนโยบายขององค์กรได้ ถึงแม้จะการสร้างบุคลลากรแบบผู้ประกอบการภายในจะเป็นงานที่ใช้เวลา แต่เป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ใหญ่ ๆ ถึงสองประการ ประการที่หนึ่งคือคุณได้สร้างคนที่พึ่งพาตนเองได้และสามารถพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าได้ ประการที่สองคือคุณดึงเอาศักยภาพที่แท้จริงของบุคลากรของคุณออกมา พวกเขาคือคนที่จะช่วยให้องค์กรของคุณอยู่รอดแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด
หัวใจสำคัญของการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมคือการสร้างคน จงเริ่มที่คนในองค์กรของคุณเอง สร้างคนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงคือการสร้างองค์กรที่พร้อมพัฒนา